19 ตุลาคม 2552

# คำแนะนำการส่งเสริมสหกรณ์ให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสหกรณ์

คำแนะนำการส่งเสริมสหกรณ์
ให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสหกรณ์
แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ


         ส่วนที่ 1 คำแนะนำการส่งเสริมสหกรณ์ให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสหกรณ์
         ส่วนที่ 2 การจัดมาตรฐานสหกรณ์และหลักฐานการตรวจสอบ

ส่วนที่ 1
คำแนะนำการส่งเสริมสหกรณ์ให้ผ่านเกณฑ์
มาตรฐานสหกรณ์
         แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
        1. การส่งเสริมสหกรณ์ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานให้รักษามาตรฐานเดิมไว้
        2. การส่งเสริมสหกรณ์ให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานแต่ละข้อ

1. การส่งเสริมสหกรณ์ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน
ให้รักษามาตรฐานเดิมไว้

         สหกรณ์ที่ผ่านมาตรฐานสหกรณ์แล้ว จะรักษามาตรฐานสหกรณ์เดิม
สหกรณ์ควรดำเนินการอย่างน้อย ดังนี้

         1.1 สหกรณ์ควรยึดถือการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติงานประจำปี
ที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่เป็นแผนปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายเงิน
ของสหกรณ์

         1.2 กระจายแผนงานลงสู่การปฏิบัติเป็นรายเดือน มอบหมายผู้ปฏิบัติให้ชัดเจน
และมีผู้รับผิดชอบและติดตามผลการปฏิบัติงาน ทั้งฝ่ายกรรมการและฝ่ายจัดการ

         1.3 คณะกรรมการติดตามผลการปฏิบัติงานของสหกรณ์รายเดือน ในที่ประชุม-
คณะกรรมการดำเนินการงบทดลองประจำเดือน และงบรับ – จ่าย ของสหกรณ์

         1.4 คณะกรรมการติดตามผลการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์เป็นประจำเดือน
เพื่อทราบผลประกอบการและปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ จากการดำเนินธุรกิจของ
สหกรณ์ ดังนี้
              (1) ธุรกิจการรับเงินฝาก
              (2) ธุรกิจการให้เงินกู้ หรือสินเชื่อ
              (3) ธุรกิจการรวมซื้อ การรวมขาย
              (4) ธุรกิจการให้บริการ
              (5) ธุรกิจการแปรรูป เช่น โรงสี, โรงเมล็ดพันธุ์, โรงนม, โรงงานยาง เป็นต้น
              (6) อื่น ๆ

         1.5 สหกรณ์ควรมีการควบคุมภายในของสหกรณ์ และติดตามผลเป็นประจำเดือน
ดังนี้
              (1) การดูแลทรัพย์สินของสหกรณ์ให้พร้อมใช้งาน
              (2) การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินสดให้เป็นไปตามที่ข้อบังคับและ
                   ระเบียบกำหนด
              (3) การจัดทำบัญชีของสหกรณ์
              (4) ธุรกิจสินเชื่อ
              (5) ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย (การซื้อ)
              (6) ธุรกิจการรวบรวมผลผลิต
              (7) ธุรกิจการรับฝากเงิน
              (8) ธุรกิจการแปรรูป
              (9) ธุรกิจการให้บริการ
              (10) การจัดสวัสดิการ

รายละเอียดตามคำแนะนำแนวทางการควบคุมภายในสำหรับสหกรณ์
         1.6 สหกรณ์จัดทำบัญชีให้เป็นปัจจุบัน
               (1) สมุดบันทึกรายการขั้นต้น ได้แก่ สมุดเงินสด, สมุดซื้อ, สมุดขายสินค้า,
สมุดรายได้ค่าบริการและสมุดรายวันทั่วไป และตรวจนับสินค้าคงเหลือเป็นประจำ
ทุกเดือน
               (2) สมุดบัญชีแยกประเภท
               (3) งบทดลอง
               (4) งบการเงิน ได้แก่ งบดุล งบกำไรขาดทุน งบต้นทุนขาย/บริการ
                     งบต้นทุนการผลิต

รูปแบบบัญชีตามที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนด
               (5) จัดทำงบการเงินทุกไตรมาส และจัดทำงบการเงิน ณ วันสิ้นปีบัญชี
เพื่อส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบภายใน 30 วัน

         1.7 สหกรณ์มีการตรวจนับเงินสด เพื่อตรวจสอบเงินสดคงเหลือเป็นไปตามที่
กำหนดในระเบียบ
     
        1.8 คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ ดำเนินการ ดังนี้
             (1) ตรวจสอบคุณสมบัติของคณะกรรมการ
             (2) ตรวจสอบหลักประกันของเจ้าหน้าที่
             (3) มีคำสั่งมอบหมายหน้าที่ให้ปฏิบัติงานของกรรมการ และเจ้าหน้าที่อย่าง
                   ชัดเจน

        1.9 ให้ผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ เข้าตรวจสหกรณ์และรายงานผล
ในที่ประชุมคณะกรรมการฯเป็นประจำทุกเดือน

        1.10 มีการตรวจสอบระเบียบ / ข้อบังคับของสหกรณ์เหมาะสมครบถ้วน
กับการปฏิบัติงานหรือไม่

        1.11 สหกรณ์มีการจัดสรรกำไรสุทธิตามข้อบังคับ โดยเฉพาะการจัด
สวัสดิการสมาชิกและทุนสาธารณะประโยชน์ และมีการจ่ายเงินทุนสวัสดิการ
และสาธารณประโยชน์ในแต่ละรอบปีบัญชี

        1.12 สหกรณ์จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ภายใน 150 วันนับแต่
วันสิ้นปีทางบัญชี

        1.13 สหกรณ์ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์

        1.14 สหกรณ์ส่งเสริมให้สมาชิกมาทำธุรกิจกับสหกรณ์ โดยดำเนินการดังนี้
                - สหกรณ์จะต้องทำธุรกิจตามความต้องการของสมาชิก
                - สหกรณ์จะต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกถึงวิธีการและขั้นตอนการทำธุรกิจ
                   ของสหกรณ์ ให้ความยุติธรรมกับสมาชิกในด้านราคาผลผลิต ราคาขาย
                   สินค้าและบริการ อัตราดอกเบี้ย ตลอดจนรับผิดชอบต่ออุปกรณ์การตลาด
                   ที่บริการสมาชิก และทำความเข้าใจในผลประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับใน
                   การดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์ ได้แก่ เงินเฉลี่ยคืนตามส่วนธุรกิจ และ
                   เงินปันผลตามหุ้น อัตราผลตอบแทนที่แตกต่าง เป็นต้น
                - สหกรณ์จะต้องเน้นให้เห็นถึงการบริการที่แตกต่าง ระหว่างสมาชิกกับ
                   บุคคลภายนอกเช่น ราคาที่แตกต่าง การบริการที่แตกต่าง อัตราผล
                   ตอบแทนที่แตกต่าง
                - สหกรณ์จะต้องช่วยเหลือสมาชิกตามสมควร เมื่อสมาชิกได้รับ
                   ความเดือดร้อนด้านการประกอบอาชีพ และด้านอื่น ๆ เช่น
                   การเจ็บป่วย ฯลฯ เป็นต้น
                - สหกรณ์ต้องมีข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นของสมาชิกในเรื่อง การผลิต
                   ปัจจัยการผลิต รายได้ รายจ่าย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการทำธุรกิจกับ
                   สมาชิกต่อไป
                - หากสหกรณ์มีกำไรควรจัดสรรเป็นเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนตามส่วน
                   ธุรกิจให้กับสมาชิก

2. การส่งเสริมสหกรณ์ให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน
แต่ละข้อ


การส่งเสริมสหกรณ์ให้ได้มาตรฐาน ควรดำเนินการอย่างน้อยตามขั้นตอน
ดังนี้


ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาข้อมูลพื้นฐานของสหกรณ์ย้อนหลังว่า เมื่อ
เปรียบเทียบกับเกณฑ์ชี้วัดระดับมาตรฐานสหกรณ์แต่ละข้อแล้ว
ผลการดำเนินงานในข้อนั้นเป็นอย่างไร ผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้าไม่ผ่านข้อใด
ให้วิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุแห่งการไม่ผ่านเกณฑ์ในข้อนั้น และวางแผน
ที่จะไปส่งเสริม แนะนำ


ขั้นตอนที่ 2 ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเกณฑ์มาตรฐานทุกข้อ
และร่วมวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน


            ตามขั้นตอนที่ 1 กับสหกรณ์และเจ้าหน้าที่เพื่อหาแนวทางแก้ไข
หรือแนวทางการดำเนินงาน


ขั้นตอนที่ 3 แนะนำ ส่งเสริม การปฏิบัติงานของสหกรณ์ให้ผ่านเกณฑ์
มาตรฐานแต่ละข้อ ดังนี้


มาตรฐานข้อ 1 ผลการดำเนินงานในรอบสองปีบัญชีย้อนหลัง
สหกรณ์มีผลการดำเนินงานไม่ขาดทุน เว้นแต่ปีใดมีอุบัติภัยหรือภัย
ธรรมชาติจนเกิดความเสียหายต่อสมาชิกและสหกรณ์โดยรวม
ให้ตัดปีนั้นออก

          1) ร่วมวิเคราะห์สาเหตุแห่งการขาดทุน อาจพิจารณาจาก
              - รายได้น้อย อาจเกิดจาก สมาชิกน้อย ปริมาณธุรกิจน้อย
                 ประเภทธุรกิจน้อย
              - รายจ่ายมาก อาจเกิดจาก ต้นทุนการดำเนินงานสูง ไม่ประหยัด
                 และไม่ปฏิบัติตามแผนงบประมาณ
                 เมื่อได้สาเหตุแล้ว นำมาวางแนวทางแก้ไขร่วมกัน ซึ่งแนวทาง
การวิเคราะห์ได้แนะนำไว้แล้ว ในเอกสารคู่มือการพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร
สู่มาตรฐาน ในขั้นตอนที่ 2 เรื่อง การกำหนดโครงการหรือแผนงานของสหกรณ์ /
กลุ่มเกษตรกร (หน้าที่ 12) โดยจัดทำตัวอย่าง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำ
กำไรของสหกรณ์
             2) จัดทำแผนปฏิบัติงานของสหกรณ์ เสนอที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี
พิจารณา เพื่อนำมาเป็นแผนปฏิบัติงานประจำปี และกระจายแผนลงสู่การปฏิบัติ
เป็นรายเดือน มอบหมายผู้ปฏิบัติงานให้ชัดเจน มีผู้รับผิดชอบติดตามผลการ
ปฏิบัติงานทั้งฝ่ายกรรมการและฝ่ายจัดการ และดำเนินการตามแนวทางการ
ส่งเสริมสหกรณ์ให้ได้มาตรฐาน

มาตรฐานข้อ 2 ผลการดำเนินงานในรอบสองปีบัญชีย้อนหลัง
ไม่มีการกระทำอันถือได้ว่าทุจริตต่อสหกรณ์

                 ส่งเสริมตามคำแนะนำ แนวทางการควบคุมภายในสำหรับสหกรณ์
ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดทำ

มาตรฐานข้อ 3 ผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชีสุดท้ายสหกรณ์
จัดทำงบการเงินแล้วเสร็จและส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วนำเสนอ
เพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน
นับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี

           1) มอบหมายเจ้าหน้าที่จัดทำบัญชี
           2) ตรวจสอบหลักฐานการลงบัญชีให้ถูกต้อง และบันทึกรายการทางบัญชี
               ในสมุดบัญชีขั้นต้น จนถึงขั้นปลายให้ครบถ้วน ถูกต้อง ประจำวัน
               ประจำเดือน
           3) จัดทำงบทดลองเป็นประจำเดือน ตรวจนับสินค้าคงเหลือ และตรวจ
               ทะเบียนคุมต่าง ๆ ให้ตรงกับงบทดลอง
           4) จัดทำงบการเงินทุกไตรมาส และจัดทำงบการเงิน ณ วันสิ้นปีบัญชี
                เพื่อส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบภายใน 30 วัน
            5) การจัดทำบัญชีเป็นไปตามรูปแบบบัญชีตามที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์แนะนำ

มาตรฐานข้อ 4 ผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชีสุดท้าย สหกรณ์
ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของสมาชิกทั้งหมด ร่วมทำธุรกิจ
กับสหกรณ์


           สหกรณ์จะต้องพัฒนาการมีส่วนร่วมของสมาชิก โดยจัดทำ ทะเบียนสมาชิก
ที่มาทำธุรกิจกับสหกรณ์และที่ไม่มาทำธุรกิจกับสหกรณ์ (การออกแบบทะเบียนฯ
ขอให้สหกรณ์จังหวัดพิจารณาดำเนินการเองตามความเหมาะสมและให้สอดคล้องกับ
คำอธิบายประกาศกรมฯ ข้อ 4 ด้วย) สำหรับสมาชิกที่ไม่มาทำธุรกิจกับสหกรณ์
จะต้องไปพบปะเยี่ยมเยียน หาเหตุผลว่า สมาชิกมีเหตุผลอะไรที่ไม่มาทำธุรกิจ
กับสหกรณ์ ซึ่งอาจพบว่า สมาชิกย้ายออกนอกแดน ไม่มีตัวตน หรือเหตุผลการ
บริการของสหกรณ์ ซึ่งจะต้องนำมาปรับปรุง โดยพิจารณาประเด็นดังต่อไปนี้
ประกอบแนวทางปฏิบัติงาน
          1) สหกรณ์จะต้องทำธุรกิจและให้บริการตามความต้องการของสมาชิก
          2) สหกรณ์จะต้องทำความเข้าใจกับสมาชิก ถึงวิธีการ และขั้นตอนการทำธุรกิจ
              ของสหกรณ์ ให้ความยุติธรรมกับสมาชิกในด้านราคาผลผลิต ราคาขายสินค้า
               และบริการ อัตราดอกเบี้ย เป็นต้น และทำความเข้าใจถึงผลประโยชน์ที่
               สมาชิกจะได้รับในการดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์ ได้แก่ เงินเฉลี่ยคืนตาม
               ส่วนธุรกิจ และเงินปันผลตามหุ้น เป็นต้น
           3) สหกรณ์จะต้องเน้นให้สมาชิกเห็นถึงการบริการที่แตกต่าง ระหว่างสมาชิก
               กับบุคคลภายนอก เช่น ราคาที่แตกต่าง บริการที่แตกต่าง เป็นต้น
           4) สหกรณ์จะต้องช่วยเหลือสมาชิกตามสมควร เมื่อสมาชิกได้รับความ
               เดือดร้อนด้านการประกอบอาชีพ และด้านอื่น ๆ เช่น การเจ็บป่วย ฯลฯ
               เป็นต้น
           5) สหกรณ์ต้องมีข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นของสมาชิกในเรื่อง การผลิต
               ปัจจัยการผลิต รายได้ รายจ่าย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการทำธุรกิจกับ
               สมาชิกต่อไป

มาตรฐานข้อ 5 ต้องจัดจ้างเจ้าหน้าที่สหกรณ์ปฏิบัติงานประจำ
รับผิดชอบดำเนินการและธุรกิจของสหกรณ์ หากจะไม่มีการจัดจ้างต้อง
มีกรรมการดำเนินการ หรือ สมาชิก ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประจำ

           1) สหกรณ์จะต้องดำเนินธุรกิจให้มีปริมาณเพียงพอ ที่จะมีรายได้เป็นค่าใช้จ่าย
               ในการจัดจ้างเจ้าหน้าที่
           2) หากมีธุรกิจไม่เพียงพอ ให้มอบหมาย กรรมการหรือสมาชิกมาดำเนินการ
               และจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของสหกรณ์ฯ

มาตรฐานข้อ 6 ผลการดำเนินงานในรอบสองปีบัญชีย้อนหลัง
สหกรณ์ต้องมีการจัดสรรกำไรสุทธิ และจ่ายเงินทุนสวัสดิการสมาชิก
หรือทุนสาธารณะประโยชน์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง

           1) สหกรณ์จะต้องดำเนินธุรกิจมีกำไรเพียงพอ
           2) แนะนำให้จัดสรรกำไรสุทธิเป็นทุนสวัสดิการสมาชิกและหรือทุน
               สาธารณะประโยชน์รวมทั้งให้มีการจ่ายเงินทุนเพื่อดำเนินกิจกรรมนั้นด้วย

มาตรฐานข้อ 7 ผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชีสุดท้าย
สหกรณ์ต้องไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน กฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง
ของนายทะเบียนสหกรณ์

     สหกรณ์จะต้องจัดให้มีการตรวจสอบการดำเนินงานของสหกรณ์ ดังนี้
           1) ผู้ตรวจสอบกิจการเข้าตรวจสอบสหกรณ์ และรายงานผลการตรวจสอบ
               ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ เป็นประจำทุกเดือน หากมีปัญหา
                คณะกรรมการฯ จะต้องดำเนินการแก้ไข
           2) คณะกรรมการดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สหกรณ์
                ให้เป็นไปตามระเบียบฯ
           3) ผู้ตรวจการสหกรณ์ (ฝ่ายเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์) เข้าไปตรวจสอบ
               กิจการและฐานะการเงินของสหกรณ์

ขั้นตอนที่ 4 ติดตามและประเมินผล
           1) กรรมการดำเนินการตรวจติดตามการปฏิบัติงานตามขั้นตอนที่ 3 รายงาน
               เสนอคณะกรรมการ
           2) เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ติดตามผลเสนอสหกรณ์จังหวัดและแจ้งสหกรณ์

ส่วนที่ 2
การจัดมาตรฐานสหกรณ์
และหลักฐานการตรวจสอบ


          การจัดมาตรฐานสหกรณ์ ให้ดำเนินการตามประกาศกรมส่งเสริมสหกรณ์
เรื่อง กำหนดระดับมาตรฐานสหกรณ์ ซึ่งกำหนดให้จัดมาตรฐานสหกรณ์ ปีละ 1 ครั้ง
ณ วันที่ 1 กันยายน ของทุกปี โดยดำเนินการดังนี้

          1. การนับระยะเวลา ให้นับระยะเวลาวันสิ้นปีบัญชี ก่อนวันที่ 1 กันยายน
เมื่อนับรอบระยะเวลาแล้วครบ 2 ปี และครบ 1 ปี ตามเกณฑ์ชี้วัดระดับมาตรฐาน
สหกรณ์แต่ละข้อ ทั้งนี้ การนับเวลาแต่ละสหกรณ์จะต้องนับระยะเวลาชนรอบปี
เฉพาะสหกรณ์นั้น ๆ

          2. หลักฐานการตรวจสอบมาตรฐานสหกรณ์ ให้ใช้เอกสารประกอบการ
พิจารณาการจัดระดับมาตรฐานสหกรณ์แต่ละข้อตามเอกสาร 1 ที่แนบท้ายคำแนะนำนี้
              สำหรับตัวชี้วัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ข้อ 4 “สหกรณ์ต้องมีสมาชิก
ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60
ของสมาชิกทั้งหมดร่วมทำธุรกิจกับสหกรณ์”
ให้แนะนำ
สหกรณ์จัดทำแบบสรุปข้อมูลจำนวนสมาชิกที่ร่วมทำธุรกิจกับสหกรณ์ตามเอกสาร 2
ที่แนบท้ายคำแนะนำนี้ และนำมาเป็นหลักฐาน

           3. เมื่อจัดมาตรฐานสหกรณ์เสร็จแล้ว ให้เก็บหลักฐานการจัดมาตรฐาน
สหกรณ์ตามเอกสาร 1 (ยกเว้นเกณฑ์มาตรฐานสหกรณ์ข้อ 4 ให้เก็บหลักฐานเฉพาะ
แบบสรุปข้อมูลจำนวนสมาชิกที่ร่วมทำธุรกิจกับสหกรณ์ตามแบบเอกสาร 2 ) โดย
เก็บไว้ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัด เพื่อการตรวจสอบต่อไป
------------------------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น: