28 พฤศจิกายน 2552

# ชาวบ้านวังไคร้ ต.วังหมัน บวชป่าชุมชน

ที่ตั้งของผืนป่าบ้านวังไคร้ หมู่ 3 บ้านวังไคร้ ตำบลวังหมัน อำเภอสามเงา จ.ตาก

ดู ป่าบ้านวังไคร้ ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 คณะสงฆ์วัดพระเจดีย์วังไคร้ คณะสงฆ์วัดวังไคร้ อบต.วังหมัน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และประชาชนตำบลวังหมัน ได้เห็นพ้องต้องกัน ควรที่จะร่วมแรงร่วมใจ "บวชป่าชุมชน" ในผืนป่าบ้านวังไคร้ หมู่ 3 ต.วังหมัน อ.สามเงา ให้คืนสภาพความอุดมสมบูรณ์ดั้งเดิม และสามารถยังประโยชน์ต่อชาวบ้านได้ต่อไป



และที่สำคัญที่สุดคือ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2552 ตลอดจนเป็นการสนองต่อพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ



วัตถุประสงค์ของการบวชป่าในครั้งนี้

1) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และตอบสนองต่อพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและป่าไม้



2) เพื่อให้การบวชป่าชุมชนบริเวณพื้นที่สาธารณะ หมู่ที่ 3 บ้านวังไคร้ ต.วังหมัน ได้รับการดูแลให้ฟื้นคืนสภาพและคงความอุดมสมบูรณ์ ตอบสนองประโยชน์ส่วนรวมได้อย่างยั่งยืนเป็นรูปธรรม



3) เพื่อคืนผืนป่าให้แผ่นดิน รักษาสภาพแวดล้อมและสัตว์ป่า



4) เพื่อให้เกิดแนวร่วม และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และป่าไม้ของชุมชน



ในพิธีบวชป่า ผืนป่าบ้านวังไคร้ ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายสามารถ  ลอยฟ้า  เดินทางมาเป็นประธานในพิธีบวชป่า

นายสามารถ  ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก


เริ่มพิธีบวชป่า



พิธีเปิดงานบวชป่า โดย นายสามารถ  ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก


"ป.เลิศ" นายเลิศศักดิ์  ทับผึ้ง ปลัดอำเภอประสานงานตำบลวังหมัน กล่าวรายงาน
(ป.เลิศ เคยเป็นผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเมืองตาก จำกัด ในสมัยแรกๆ ของโครงการเสริมสร้างฯ)


กองผ้าตรงนี้ ใช้สำหรับบวชต้นไม้ ครับ


"กำนันตุ๋ย" กำนันเสือเหลือง  สุขนันตพงษ์ กำนันตำบลวังหมัน กับ ผวจ.ตาก


ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มพลังมวลชน เข้าร่วมงานโดยพร้อมเพรียงกัน


พระสงฆ์อธิบายความเป็นมาของการบวชป่า


ผวจ.รับผ้าบวชต้นไม้จากเจ้าอาวาส


ผวจ. บวชต้นไม้เป็นปฐมฤกษ์


บวชบ้างครับ (บวชต้นไม้) "ป.อาวุโส" นายอุทัย  เลิศวุฒิ


คนนี้บวชทีเดียว 2 ต้น "กำนันอี้ด" นายชลชัย  สุโพธิ์ กำนันตำบลวังจันทร์


"พี่สีทุน" สจ.สีทุน  ตั้งน้อย สจ.ตลอดกาล จากบ้านแม่ระวาน ต.ยกกระบัตร
เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรสามเงา จำกัด มาโดยตลอด


"พี่บุนนาค" สจ.บุนนาค  ชัยโตสะ (สาลี) ตั้งใจเลือกบวชต้นไม้ที่มีหนาม ไม่รู้ว่าจะขู่ใคร !
นี่ก็เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรสามเงา จำกัด อดีตประธานกรรมการหลายสมัย


ชาวบ้านวังไคร้ นักเรียน กระจายกันออกไปทั่วป่า หายไปกันเร็วมาก เพราะกระจายออกไปหลายจุด


ตามธรรมเนียมครับ มอบของให้ ผวจ. สัญญลักษณ์ของอำเภอสามเงา "กล้วยไข่สามเงา"


เจ้าภาพจัดงานวันนี้ ภาคราชการ "ป.เลิศ" งานผ่านไปอย่างสมบูรณ์แบบ

ต้องขอโทษท่านอื่นๆ อีกหลายท่าน ที่ไม่ได้เอ่ยชื่อและแสดงรูปในที่นี้ เนื่องจากไม่ต้องการให้การโหลดหน้าเว็บเพจนี้ช้าเกินไปเพราะมีรูปมาก ได้พยายามคัดเลือกรูปทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันจัดงานในวันนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่ากิจการงานใดๆ ที่ทำกับประชาชนในท้องถิ่น ต้องได้รับความร่วมมืออย่างจริงใจจากทุกภาคส่วน งานจึงจะสำเร็จด้วยดีและเป็นประโยชน์กับประชาชนในถ้องถิ่นได้แท้จริง


ป่านี้ สมัยก่อนโน้นจะเป็นพื้นที่หาของป่าของชาวบ้าน ตอนหลังมาชักจะหาอะไรไม่ค่อยได้ ไม่ว่าสัตว์หรือพืชอาหาร ต้นไม้จะถูกตัดเพื่อเผาถ่าน จนป่าโล่งขึ้นเรื่อยๆ ในวันนี้ ป่ามีต้นไม่หนาแน่นขึ้นและดูมีชีวิตมากกว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อนโน้น


22 พฤศจิกายน 2552

# การเพิ่มประสิทธิภาพของงานในยุคดิจิตอล

คงประมาณสิบกว่าปีจำ พ.ศ.ไม่ได้ มันนานมาแล้ว ค้นหาความรู้ แนวความคิดเกี่ยวกับการใช้งานคอมพิวเตอร์ เพื่อนำไปใช้ประกอบการอบรมคอมพิวเตอร์ ได้ค้นพบเอกสารเพาเวอร์พ้อยท์นี้ในอินเตอร์เน็ต เห็นว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ เขาพูดถึงการจัดการเวลาทำงานได้น่าสนใจมาก จึงขอตัดเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการเวลาทำงานตามแนวคิดการทำงานของบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ มาบันทึกไว้ในที่นี่ เพื่อว่าพอจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านได้บ้าง

การเพิ่มประสิทธิภาพของงาน ในยุคดิจิตอล
A new experience for your business
ณัทธร ชัยนาม
Product Manager
nattornj@microsoft.com  
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด


ปัจจัยในการประสบความสำเร็จในยุคดิจิตอล
         ทำให้ธุรกิจเติบโต
         ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
         พัฒนาการสื่อสารระหว่างลูกค้าและพนักงาน
         ใช้อินเตอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์
ทำงานอย่างว่องไวและมีประสิทธิภาพ












17 พฤศจิกายน 2552

# บันทึกเมืองตาก : พิธีเปิด สวท.ตาก 12 มี.ค.2510

พิธีเปิดสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดตาก
(คลื่น FM.102 MHz. และคลื่น AM.864 KHz.)

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2510 จอมพลถนอม กิตติขจร และท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร พร้อมคณะ ได้เดินทางโดยเครื่องบินของกองทัพบก ถึงสนามบินจังหวัดตาก เวลา 09.45 น. เพื่อเปิดศูนย์พัฒนาภาคเหนือ จังหวัดตาก ในการเดินทางมาจังหวัดตากในครั้งนี้ จอมพลถนอม  กิตติขจร ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดตาก (สวท.ตาก) ด้วย

ผมพบรูปเก่านี้ที่ สวท.ตาก จึงนำมาบันทึกเก็บไว้เป็นเรื่องราวของเมืองตาก ตัวอาคารที่เห็นในภาพ ปัจจุบันยังคงใช้งานได้ดีมาก  แม้เวลาจะผ่านไป 40 กว่าปีแล้ว ทั้งหมดได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี


ฯพณฯ จอมพลถนอม  กิตติขจร นายกรัฐมนตรี
ทักทายกับ นายชูชัย  สุวรรณรังษี ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก


ทักทายกับ นายประสม  บูรณะเหตุ
หัวหน้ากองประชาสัมพันธ์เขตลำปาง


ทักทายกับ นายสุขุม  ศรียะวงษ์
นายสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดตาก


จอมพลถนอม  ท่านผู้หญิงจงกล   กิตติขจร
ข้าราชการ ประชาชนในพิธีเปิดป้าย สวท.ตาก พร้อมกับแขกผู้มีเกียรติ เช่น
นายพจน์  สารสิน รมต.ว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ (ยุบไปเมื่อ 17 พ.ย.2514)
นายสุนทร  หงษ์ลดารมย์ รมต.ว่าการกระทรวงเศรษฐการ (กระทรวงพานิชย์ปัจจุบัน)
ศาสตราจารย์ ปกรณ์  อังศุสิงห์ ปลัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ
นายอุทัย  วุฒิกุล อธิบดีกรมทางหลวง


เปิดป้าย สวท.ตาก
(สังเกตุต้นไม้ด้านหลัง แสดงความเป็นหน้าแล้งเดือนมีนาของเมืองตากเป็นอย่างดี แต่อากาศคงไม่ร้อนเป็นบ้าเป็นหลังเหมือนทุกวันนี้)


ตัวอาคารปัจจุบันนี้ ยังเหมือนเดิมทุกประการ
(ช่างภาพยังคงใช้กล้องถ่ายรูปแบบซิงเกิ้ลเลนส์รีเฟล็กซ์แบบใช้ฟิล์ม)


บรรยากาศการเยี่ยมชมในตัวอาการของ สวท.ตาก


อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ นายสถานีวิทยุ นำเยี่ยมชมภายในสถานี


อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ นายสถานีวิทยุ นำเยี่ยมชมภายในสถานี


ท่านผู้หญิงจงกล  กิตติขจร เยี่ยมชมภายในอาคารของสถานีวิทยุ


ชมทัศนียภาพด้านหลังอาคาร ซึ่งเป็นหมู่บ้านพัก และเสาอากาศของสถานีวิทยุ
(บ้านพักทั้งหมดสร้างไว้อย่างสมบูรณ์แบบ อำนวยความสะดวกผู้พักอาศัยได้เป็นอย่างดี)


ระเบียงทางเดินด้านหน้าอาคาร ทุกอย่างยังอยู่ในสภาพเดิม ยังใช้งานได้ดี
แม้กระทั่งแนวกันเปื้อนระหว่างพื้นกับฝาผนังก็ยังเหมือนเดิม ในแนวเดิม ใช้งานได้ตามปกติ


บรรยากาศการต้อนรับเมื่อ 40 กว่าปีก่อน


บรรยากาศการต้อนรับเมื่อ 40 กว่าปีก่อน


ขบวนเดินทางกลับ


จอมพลถนอม  กิตติขจร ได้ลงนามในสมุดเยี่ยมของสถานีวิทยุไว้ดังนี้

"มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานเปิดสถานีวิทยุกระจายเสียง-ตาก ในวันนี้ ขอให้สถานีวิทยุแห่งนี้จงสถิตสถาพร เพื่อบริการแก่ประชาชนให้เกิดความรู้ มีความเข้าใจระหว่างทางราชการกับประชาชน และได้รับความบันเทิงตามสมควร ทั้งทำให้เกิดความสามัคคีในชาติอย่างแน่นแฟ้น เพื่อช่วยกันต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อ และการคุกคามอย่างอื่น ๆ ของคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาด"

ขอขอบคุณ
ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดตาก คุณบำรุง  คงมีผล (เขยเมืองตาก) ที่ได้ค้นคว้า รวบรวม ข้อมูลเหล่านี้ให้ปรากฎแก่คนรุ่นหลัง
และขอขอบคุณ น้องเมิร์ซ นางสาวมัทธิดา  ธรรมราช ที่ได้ช่วยเหลือส่งไฟล์รูปภาพเหล่านี้ให้ได้นำมาบันทึกเมืองตาก

# ข่าวล่าสุด เรื่อง สนง.สหกรณ์อำเภอ จากอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

(วันที่ 17/11/2552 เวลา 10:54:07)


        วันนี้ผมอยากที่จะพูดเรื่องการตั้งสหกรณ์อำเภอ เพื่อทำความเข้าใจกับน้อง ๆ ที่มีความกังวลว่ากรมจะเดินไปในทิศทางใด ผมขอพูดหลักการก่อนครับ

       (1) กรมมีความาจำเป็นต้องตั้งสหกรณ์อำเภอเพื่อให้การบริการ/ช่วยเหลือสมาชิกเป็นไปอย่างรวดเร็วและพัฒนาสหกรณ์ให้ก้าวหน้า/เข้มแข็ง

        (2) ตั้งเฉพาะอำเภอที่มีสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร

        (3) ในสถานการณ์ปัจจุบันตามทรัพยากรณ์ที่กรมมี คน เงิน เครื่องอำนวยความสะดวก สำนักงาน ปริมาณงาน กรมมีความจำเป็นต้องจัดเกณฑ์การตั้งสหกรณ์อำเภอ คือ 1 คน/10 สถาบันเกษตรกร/ 1 อำเภอ กรณีไม่ถึง 10 สถาบันให้ไปรวมกับอำเภอข้างเคียงเฉพาะอำเภอเมืองใช้ 1 คน/15 สถาบัน ให้จัด 5 คน/1อำเภอเพื่อความก้าวหน้าของข้าราชการ(ตามหลักเกณฑ์ที่ กพ. กำหนด ว.17) ยกเว้นอำเภอที่มีการคมนาคมไม่สะดวกให้แยกตั้งสหกรณ์อำเภอเป็นการเฉพาะแห่ง

        (4) ให้การบริหารงานขึ้นอยู่กับสหกรณ์จังหวัด

        (5) ให้ปรับโครงสร้างของกรมรองรับการตั้งสหกรณ์อำเภอที่ถูกต้อง

        (6) กรมจะประชุมคณะกรรมการบริหารกรมในวันพุธที่ 18 พ.ย. นี้เพื่อมีมติจำนวนสหกรณ์อำเภอที่จัดตั้งตามเกณฑ์ที่กำหนดและประกาศให้ทุกคนทราบต่อไป

       (7) เมื่อมีมติแล้วจะให้ท่านรองอธิบดี ท่านผู้ตรวจราชการและท่านสหกรณ์จังหวัดจัดคนลงตามอำเภอที่ตั้งและกรอบอัตรากำลังที่กำหนด และ

        (8) กรมจะประชุมชี้แจงผู้ที่เกี่ยวข้องให้ทราบเพื่อทำความเข้าใจและตอบข้อสงสัยในภูมิภาคซึ่งผมจะไปชี้แจงด้วยตัวเองแต่จะเป็นเมื่อใด จังหวัดใดผมจะแจ้งให้ทราบ

   ผมต้องขอทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่ากรมต้องการให้การตั้งสหกรณ์อำเภอสามารถทำงานได้ สหกรณ์/กลุ่มได้ประโยชน์ ใช้ทรัพยากรกรมอย่างคุ้มค่า และน้อง ๆ ต้องมีความก้าวหน้าทางราชการด้วย สิ่งเหล่านี้คือความต้องการและความหวังของผู้บริหารกรม พวกผมไม่มีวาระใด ๆ ซ่อนเร้น ทำทุกอย่างอย่างเปิดเผย คนคัดค้านและไม่เห็นด้วยย่อมมีเป็นธรรมดา แต่ขอให้คนส่วนใหญ่เห็นด้วยผมก็พอใจแล้วครับ

           มีอะไรชี้แนะ เชิญครับ ผมขอให้ท่าน ผอ.กกจ.รวบรวมความเห็นการตั้งสหกรณ์อำเภอทั้งหมดครับ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการทำความเข้าใจกับทุกท่านต่อไป ขอบคุณครับ

โดย : ฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดี -

16 พฤศจิกายน 2552

# สรุปการตรวจราชการอำเภอสามเงา ของนายมงคล สัณฐิติวิฑูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก

สำเนาสมุดตรวจราชการ

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2552

สถานที่/งาน/โครงการที่ตรวจ / คำแนะนำหรือการสั่งการของผู้ตรวจ :

     วันนี้ เวลา 14.00 น. ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมพื้นที่ ที่ว่าการอำเภอสามเงา และพบปะหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอสามเงา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พนักงานส่วนท้องถิ่น ในเขตพื้นที่อำเภอสามเงา ได้รับฟังบรรยายสรุปสภาพพื้นที่จากนายอำเภอสามเงา (นายพงษ์พันธ์  แสงสุวรรณ) ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ดังนี้

     1. ความสามัคคีร่วมมือในท้องถิ่นของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน และเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีประสิทธิภาพ สมควรศึกษา "พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457" อย่างถ่องแท้ ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จัดให้มีการประชุมชี้แจงราษฎรในหมู่บ้านอย่างสม่ำเสมอ การใช้ประโยชน์จากหอกระจายข่าวเป็นสื่อกลางระหว่างภาครัฐกับประชาชนในพื้นที่ ติดตามข่าวสารและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างใกล้ชิด รวมทั้งการบริหารงานในรูปแบบของคณะกรรมการหมู่บ้าน

     2. การจัดทำแผนชุมชน โดยการประสานงานกับทุกภาคส่วน ซึ่งให้ยึดถือแผนชุมชนเป็นหัวใจในการพัฒนา

     3. การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นนโยบายเน้นหลักของของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตาก (นายสามารถ  ลอยฟ้า)โดยให้ทุกภาคส่วนได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาให้หมดสิ้นไป

     4. การอนุรักษ์ รักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าไม้ ซึ่งเป็นนโยบายเน้นหลักของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตาก (นายสามารถ  ลอยฟ้า) อีกประการหนึ่ง จึงขอให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้สอดส่องดูแล ติดตามพฤติการณ์ของกลุ่ม ที่เข้าข่ายเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า

     ทั้งนี้ ขอขอบคุณท่านนายอำเภอสามเงา หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ให้การต้อนรับและอำนวยความสะดวกในการตรวจราชการครั้งนี้อย่างดียิ่งและชมเชยไว้

นายมงคล  สัณฐิติวิฑูร
รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก

12 พฤศจิกายน 2552

# ความคาดหวังของคณะกรรมการ สกก.สามเงา ต่อการมี สนง.สหกรณ์อำเภอ

ความคาดหวังของคณะกรรมการดำเนินการ
สหกรณ์การเกษตรสามเงา จำกัด
ต่อการมีสำนักงานสหกรณ์อำเภอสามเงา

เนื่องจากห่างเหินการทำหน้าที่ "เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์" ไปนานมาก พอ ๆ กับการอพยพไปอยู่จังหวัด เมื่อถูกกำหนดให้มาอยู่อำเภอ จึงอยากรู้ว่า ตอนนี้สหกรณ์คิดอะไรอยู่กับ "เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์" จะได้นำความคิดนี้ไปสร้างแนวทางการทำงาน เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของสหกรณ์ได้ตรงตามความต้องการของสหกรณ์ ให้เป็นที่พึงพอใจของสหกรณ์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้ว่าการทำงานกับ "คน" จะไม่เหมือนกับการบวกเลขที่ 1+1 ต้องเท่ากับ 2 เสมอ

ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์การเกษตรสามเงา จำกัด ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2552 จึงขอให้คณะกรรมการดำเนินการช่วยแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ โดยทิ้งช่วงให้ไปคิดให้ไปเขียนที่บ้าน เพื่อให้เวลา ไม่ต้องมีอะไรมากดดัน แล้วให้ช่วยส่งคืนในการประชุมครั้งต่อไป

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2552 ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการดำเนินการเป็นครั้งที่สอง คณะกรรมการได้ส่งกระดาษแสดงความคิดให้กับมือหลังเลิกประชุม เนื่องจากผมไม่ได้ตีกรอบการแสดงความคิดมากมาย ในการบันทึกความเห็น ความคาดหวังของกรรมการนี้ จึงบันทึกตามสำนวนของกรรมการเกือบทั้งหมด ตัดทิ้งเฉพาะคำซ้ำ เพื่อให้ได้บรรยากาศของความเป็นกรรมการสหกรณ์การเกษตรให้มากที่สุด

ความคิดเห็นนี้ขาดไปหนึ่งราย เพราะส่งให้ผมก่อน ตอนนี้หายังไม่พบ อยู่ในบ้านนี้แน่นอน คนนี้เขาส่งก่อน หากหาพบแล้วจะได้คัดลอกเพิ่มเติมภายหลัง

ขอย้ำว่า การสอบถามนี้ เป็นการสอบถามความคาดหวังที่มีต่อการมีขึ้นของสำนักงานสหกรณ์อำเภอ ไม่ได้เป็นการคาดหวังในตัวบุคลแต่อย่างใด ความคาดหวังนี้จะไม่เหมือนกับสหกรณ์อื่นๆ เนื่องจากสภาพแวดล้อมต่างกันเป็นเบื้องต้น !

การมีสำนักงานสหกรณ์อำเภอจะเป็นผลดีกับสหกรณ์ของท่านอย่างไรบ้าง
     1. ก็ดี จะได้มีที่ปรึกษา
     2. เป็นโอกาสดีของสหกรณ์ที่มีแกนนำที่ดี
     3. อยากให้สหกรณ์อำเภอทำสิ่งที่มีโอกาสให้มากที่สุด
     4. เป็นที่ปรึกษาของสมาชิก คณะกรรมการ และเจ้าหน้าที่ เพราะเป็นผู้มีความรู้ และจะได้มีการทำงานเป็นทีม เป็นคณะ โดยทำงานตามแผนอย่างต่อเนื่อง และช่วยพัฒนาสหกรณ์
     5. จะได้ช่วยผลักดันสหกรณ์ให้มีความก้าวหน้าในทุกด้านและทุกรูปแบบที่สหกรณ์อำเภอมีส่วนเกี่ยวข้องกับสหกรณ์
     6. เป็นโอกาสที่ดีมากที่สหกรณ์อำเภออยู่ใกล้กับสหกรณ์ มีอะไรจะได้ชี้แนะให้กับสหกรณ์

การมีสำนักงานสหกรณ์อำเภอจะเป็นผลเสียกับสหกรณ์ของท่านอย่างไรบ้าง
     1. ถ้าทำงานดีกับสหกรณ์ คงไม่มีข้อเสีย
     2. คิดว่าคงไม่มีข้อเสีย มีแต่ดี
     3. ขึ้นอยู่กับสหกรณ์อำเภอที่จะชี้แนะให้สหกรณ์ทำ หรือสนับสนุนให้สหกรณ์ได้บริการและกระตุ้นให้สหกรณ์แข็งแรงยิ่งๆ ขึ้นไป
     4. ไม่มีข้อเสียอะไร
     5. ขึ้นอยู่กับผู้ที่จะมาปฏิบัติงานให้กับสหกรณ์ท้องถิ่น
     6. ไม่มีข้อเสีย เป็นผลดีกับสหกรณ์เป็นอย่างมาก

ท่านต้องการให้สำนักงานสหกรณ์อำเภอดูแล แนะนำ ส่งเสริมสหกรณ์ของท่านแบบไหน อย่างไร
     1. อยากให้เป็นพี่เลี้ยงที่ดี
     2. อยากให้สหกรณ์อำเภอเน้นให้สหกรณ์ทำธุรกิจให้ดีขึ้น
     3. อยากให้ช่วยเหลือสิ่งที่บกพร่องของสหกรณ์ให้หน่อย รู้สึกว่าสหกรณ์จะแย่ไปหน่อย ทางด้านพนักงานก็ดี ด้านตามลูกหนี้ก็ดี ให้เคร่งครัดให้มากกว่านี้
     4. การมาอยู่ใกล้ชิดเป็นผลดีกับสหกรณ์มาก เพราะมีความรู้ ความสามารถ จะได้มาช่วยดูแล ตรวจสอบ การทำงานของสหกรณ์ ให้คำปรึกษาและช่วยกันหาทางปรับปรุง ช่วยกันพัฒนาสหกรณ์ให้เจริญยิ่งขึ้น คณะกรรมการจะได้มีผู้ให้คำปรึกษา เพราะเป็นผู้มีความรู้ตามสายงานที่ทำอยู่โดยตรง มีคำแนะนำที่ดีให้กับสหกรณ์ ให้คำชี้แนะและหาทางแก้ไข
     5. ต้องการให้ทำงานกับสหกรณ์ด้วยความซื่อสัตย์ ยุติธรรม โดยไม่เห็นแก่หน้าใคร
     6. อยากให้สหกรณ์อำเภอทำงานอยู่กับสหกรณ์จนกว่าสหกรณ์จะดีขึ้นมากๆ

ท่านฝันอยากให้สหกรณ์ของท่านเป็นอย่างไร (ฝันให้ไกลสุดๆ)
     1. อยากให้สหกรณ์รู้จักให้บ้าง การให้มันเป็นผลดีกับสหกรณ์และสมาชิก
     2. มีภาพการทำงานที่ดีขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจ
     3. อยากให้สหกรณ์ก้าวหน้าเหมือนกับสหกรณ์บ้านตาก เพราะสหกรณ์บ้านตากเขาทำอย่างไร เขาไปได้รวดเร็วมาก อยากให้สหกรณ์ของเราไปได้ไกล หรือที่อื่นๆ ทำอย่างไรดี แถมสุดท้าย ขอให้พนักงานสหกรณ์ให้ยิ้มแย้มกับลูกค้าหน่อย พูดเพราะ ๆ กรรมการรักพนักงานในสหกรณ์ทุกคน
     4. เป็นที่เชื่อถือ เป็นที่ไว้วางใจ ซื้อสัตย์ โปร่งใส ยุติธรรม และเคารพนับถือสหกรณ์ ตามกฎระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์ (ยังไม่อยากฝันเห็นสำนักงานหรูๆ แบบนั้น)(อาย)
     5. ต้องการให้สหกรณ์ก้าวไปไกลกว่านี้ ให้มีกำไรมาก มีสวัสดิการดี

11 พฤศจิกายน 2552

# รายชื่อคณะกรรมการฯ กลุ่มเกษตรกรทำไร่วังจันทร์

กลุ่มเกษตรกรทำไร่วังจันทร์

จดทะเบียนเมื่อ : วันที่ 16 พฤษภาคม 2522
รหัส : 13037201  เลขทะเบียนที่ : ตก.1/2522

ที่ตั้งอยู่ที่ : บ้านเลขที่ 16 หมู่ 3 บ้านวังน้ำผึ้ง ตำบลวังจันทร์ อ.สามเงา จังหวัดตาก

วันสิ้นปีทางบัญชี : 31 มีนาคม ของทุกปี

ข้อบังคับเลขทะเบียนที่ : 12/2548 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2548

ท้องที่ดำเนินกิจการ : ตำบลวังจันทร์ อำเภอสามเงา

จำนวนสมาชิก : เมื่อ 31 มี.ค.52 จำนวน 78 ราย
จำนวนทุนเรือนหุ้น : เมื่อ 31 มี.ค.52 เป็นเงินจำนวน 67,250.-บาท

คณะกรรมการดำเนินการ
ปี 2553



คุณประสิทธิ์  รัตนเสถียร
ประธานกรรมการ
เกิด : 2 ม.ค.2492
บ้านเลขที่ 16 ม.3 บ.วังน้ำผึ้ง ต.วังจันทร์ อ.สามเงา จ.ตาก
โทร. 08-5053-0998


คุณวิทยา  ฤทธิชานันท์
รองประธานกรรมการ
เกิด : พ.ศ.2498
บ้านเลขที่ 15/2 ม.3 บ.วังน้ำผึ้ง ต.วังจันทร์ อ.สามเงา จ.ตาก
โทร. 08-5401-6255


คุณวารุณี  ยอดญานะ
เลขานุการ
เกิด : 5 พฤษภาคม 2519
บ้านเลขที่ 30/1 ม.3 บ.วังน้ำผึ้ง ต.วังจันทร์ อ.สามเงา จ.ตาก
โทร. 08-7571-8918


คุณกาญจนา  จินาเขียว
เหรัญญิก
เกิด : 9 พฤศจิกายน 2508
บ้านเลขที่ 2 ม.3 บ.วังน้ำผึ้ง ต.วังจันทร์ อ.สามเงา จ.ตาก
โทร. 08-7705-1776


คุณสมศักดิ์  บูรณกุล
กรรมการ
เกิด : 22 เมษายน 2507
บ้านเลขที่ 21/1 ม.3 บ.วังน้ำผึ้ง ต.วังจันทร์ อ.สามเงา จ.ตาก
โทร. 08-9438-8143

ผู้ตรวจสอบกิจการ

คุณนายสุเทพ  เสวขุนทด
ผู้ตรวจสอบกิจการ
เกิด : 12 เมษายน 2522
บ้านเลขที่ 12 ม.3 บ.วังน้ำผึ้ง ต.วังจันทร์ อ.สามเงา จ.ตาก
โทร. 08-4951-7628
(รองประธานสภา อบต.วังจันทร์)

แผนที่สังเขป ที่ตั้งกลุ่มเกษตรกรทำไร่วังจันทร์

ดู ก.ทำไร่วังจันทร์ ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า

ข้อมูล  ณ  วันที่ 11 พ.ย. 52

เนื่องจากผมต้องเดินทางต่อไปที่กลุ่มเกษตรกรทำนาวังจันทร์ ซึ่งอยู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง ในตำบลเดียวกันนี้ หากผมไปตามถนนปกติที่ใกล้ที่สุด ต้องอ้อมกลับไประยะทางประมาณ 10 กม. จะถึงที่ตั้งของกลุ่มเกษตรกรทำนาวังจันทร์ และถ้าไปตามถนนปกติที่ว่านี้ ผมต้องค่อย ๆขับรถไปบนถนนที่มีแต่หลุมเล็กหลุมน้อยแบบที่ว่า หาทางหลบไม่มีทางพ้นแน่นอน

รถที่ใช้เป็นรถปิ๊กอั๊พส่วนตัว ก็ตามอัตภาพ (ญี่ปุ่นมันคงโล๊ะทิ้งไปนานแล้ว) (รถยนต์หลวงที่ได้มาครั้งแรก ได้ส่งคืนให้จังหวัด เมื่อ่วันศุกร์ที่ 6 พ.ย. 52 เพื่อมอบให้กับ สนง.สหกรณ์อำเภออุ้มผาง ที่จำเป็นมากกว่า) ตอนขามาก็ใจหายใจคว่ำตลอดทางกับหลุมที่หลบไม่ได้พวกนี้ หากจะย้อนกลับไปรถมันคงแช่งชักหักกระดูกหนักกว่าเดิม แม้ว่าทางราชการบอกว่าจะให้ค่าน้ำมันกิโลเมตรละ  4 บาท ก็ยังไม่มีข้อยุติว่าต้องใช้หลักฐานอะไรประกอบการเบิกเงินบ้าง ได้ยินแต่ว่าต้องให้แขวงการทางตากทำหนังสือรับรองระยะทาง แขวงการทางตากจะทำไงนี่ เพราะผมต้องใช้ระยะทางทุกหมู่บ้าน แล้วยังมีเส้นทางลัดอีก ว่าง ๆ จะไปคุยกับพี่ ๆ ที่รู้จักกันที่แขวงการทางตากสักวัน แต่ก็คงแค่นั้นแหละ แขวงการทางไม่ได้เป็นผู้กำหนดขั้นตอนและพิธีกรรมในการปฏิบัติเรื่องนี้

มันมีทางลัด หากใช้เส้นทางลัดนี้ ผมจะวิ่งรถประมาณ 5 กม. จะไปถึงกลุ่มเกษตรกรทำนาวังจันทร์
น้ำมันหลวง ?  รถส่วนตัว ?  เอาไงดีกับสุขภาพของรถ ?  เอาสุขภาพรถไว้ก่อน ใช้เส้นทางลัดตามภาพที่เห็น
ผ่านสะพานนี้ไปได้ ก็ฝุ่นและหลุมหลบไม่ได้เหมือนเดิม ก็ถนนมันน้ำท่วมทุกปี ซ่อมทุกปี ใช้กันตลอดเวลา

เคยผ่านสะพานนี้ครั้งเดียวเมื่อสิบกว่าปีก่อน ไปสำรวจน้ำท่วม จำมันได้ตลอดชีวิต
ตอนนั้นกว่าจะมาถึงตรงนี้ มันเต็มที่แล้ว
ไปข้างหน้าต่อก็ไม่ได้ ย้อนกลับข้างหลัง ก็กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ก็แย่สุด ๆ แล้ว
ตัดสินใจข้ามตรงนี้ ตอนนั้นน้ำเริ่มปริ่มและท่วมไม้ตรงกลางสะพานแล้ว
ผ่านไปได้แม้มันจะแกว่งบ้าง จำได้ว่าต้องค่อย ๆ คลานไปช้า ๆ (เผื่อเปิดประตูกระโดดลงรถ)
ลองข้ามอีกครั้ง ครั้งนี้มันน่าจะดีกว่าเมื่อก่อน เพราะดูลวดหลักมันเส้นใหญ่ ๆ ใหม่ ๆ ขาววับ
มอไซค์ก็บีบแตรไล่ข้างหลังอีก
ผ่านได้ครับ แต่คงไม่อยากผ่านอีกแล้ว

เขาถึงว่า "บ้านนอก" มันคงนอกสายตา ถนนลาดยางฝุ่นๆ พร้อมกับหลุมและบ่อ ทั้ง ฝรั่ง กล้วยไข่ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รถปิ๊กอั๊พวิ่งเข้าออกกันตลอดเวลา หยุดทำมาหากินก็ไม่ได้ ขับรถไปก็คิดไป วิ่งได้เต็มที่สามสิบกว่ากิโลเมตรต่อชั่วโมง ยังไปชนนกกระปูดตัวใหญ่ที่บินตัดหน้าอีก ถอยหลังกลับไปดูนก ตาเหลือกตาค้าง ขนหัวกระจุย ไม่ได้ตั้งใจ ทำไมไม่บินให้สูงและเร็วกว่านี้สักนิด เก็บขึ้นมาวางข้างหลังคนขับ หวังว่าเจอแอร์รถเย็น ๆ หากโชคดีมันก็ฟื้น โชคร้ายมันก็ตาย

สักครึ่งชั่วโมง นกกระปูดฟื้น กระพือปีกหาทางออกจากรถไม่ได้ ขี้ใส่รถอีก เหม็นเหมือนขี้ไก่เลย นี่อุตส่าห์หยุดให้งูตัวใหญ่ๆ ตั้งหลายครั้งแล้ว งูพวกนี้ก็ กวนteen จะข้ามถนนทำไมไม่รีบเลื้อยข้ามเร็ว ๆ รถจะเหยียบอยู่แล้วมันยังค่อย ๆ เลื้อย จะว่างูก็ไม่ได้ บางคนมันก็กวนteenยิ่งกว่างู ปล่อยงูไปดีกว่า ทางใครทางมัน